ตราสารหนี้ คือ ตราสารทางการเงินที่แสดงถึงความเป็นหนี้ระหว่างกัน โดยที่ผู้ออกตราสารหนี้ (Issuer) ซึ่งมีสถานะเป็นลูกหนี้ ให้สัญญาว่าจะจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยหรือผลประโยชน์อื่น ๆ ให้แก่ผู้ซื้อตราสารหนี้ซึ่งมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ภายในเวลาที่ได้กำหนดไว้ หรือที่เรียกกันว่าวันครบกำหนดไถ่ถอน ผู้ถือตราสารหนี้สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้จนกว่าจะหมดอายุของตราสารนั้น
องค์ประกอบที่สำคัญของตราสารหนี้
- มูลค่าที่ตราไว้ (Face Value/Par Value)
- อัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว (Coupon Rate)
- จ่ายดอกเบี้ยคงที่ (Fixed Rate)
- จ่ายดอกเบี้ยแบบลอยตัว (Floating Rate)
- ไม่มีดอกเบี้ย (Zero Coupon)
- ทยอยจ่ายคืนเงินต้น (Amortizing)
- งวดการจ่ายดอกเบี้ย (Coupon Frequency)
- ผู้ออกตราสารหนี้ (Issuer)
- วันออกตราสารหนี้ (Issue Date)
- อันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ (Issue Rating)
- วันครบกำหนดไถ่ถอน (Maturity Date)
- สินทรัพย์ค้ำประกัน
- มีหลักประกัน (Secured Bond)
- ไม่มีหลักประกัน (Unsecured Bond)
- สิทธิในการเรียกร้อง
- หุ้นกู้ด้อยสิทธิ (Subordinated Bond/Junior Bond)
- หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ (Senior Bond)
- สิทธิแฝง (Embedded Options)
- สิทธิในการเรียกคืนก่อนกำหนด (Callable Bond)
- สิทธิในการไถ่ถอนก่อนกำหนด (Puttable Bond)
- สิทธิในการแปลงสภาพ (Convertible Bond)
- อัตราผลตอบแทนเมื่อถือครองจนครบกำหนดวันไถ่ถอน (Yield to Maturity)
ใครคือ Issuer?
เราสามารถแบ่งตราสารหนี้ออกได้เป็น 2 ประเภท คือ ผู้ออกตราสารหนี้ภาครัฐ และผู้ออกตราสารหนี้ภาคเอกชน โดยตราสารหนี้ภาครัฐก็สามารถแบ่งออกได้เป็นหลายประเภทขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่เป็นผู้ออก ซึ่งได้แก่
- กระทรวงการคลัง: ตั๋วเงินคลัง (Treasury Bill), พันธบัตรรัฐบาล (Government Bond)
- ธนาคารแห่งประเทศไทย: พันธบัตรองค์กรภาครัฐ (State Agency Bond)
- รัฐวิสาหกิจ: พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ (State Owned Enterprise Bond)
ในส่วนของตราสารหนี้ภาคเอกชนก็สามารถแบ่งออกได้เป็นหลายประเภทเช่นเดียวกัน โดยในต่างประเทศนิยมใช้คำว่า Bond สำหรับตราสารหนี้ที่มีหลักประกัน (Secured Bond) ส่วนตราสารหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน (Unsecured Bond) มักถูกเรียกว่า Debenture
- หุ้นกู้ (Corporate Bond)
- ตั๋วแลกเงิน (Bill of Exchange)
- ตั๋วสัญญาใช้เงิน (Promissory Note)
ความแตกต่างระหว่าง ตราสารหนี้ และ ตราสารทุน
ผู้ถือตราสารหนี้มีสถานะเป็นเจ้าหนี้ ส่วนผู้ถือตราสารทุน (ผู้ถือหุ้น) มีสถานะเป็นเจ้าของ ดังนั้นสิทธิในการเรียกร้องของผู้ถือตราสารหนี้จะมีสูงกว่า เช่น หากบริษัทเกิดล้มละลายและมีการขายสินทรัพย์ทอดตลาด ผู้ถือหุ้นจะได้รับส่วนที่เหลือหลังจากการชำระคืนเจ้าหนี้หรือผู้ถือตราสารหนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม ผู้ถือตราสารหนี้ย่อมไม่มีสิทธิในการออกเสียงหรือตัดสินใจในการดำเนินงานใด ๆ เนื่องจากไม่ได้อยู่ในสถานะเจ้าของบริษัท ในขณะที่ผู้ถือตราสารทุนมีอำนาจเต็ม